好好学习

扫一扫关注

泰国出现各种方言的原因

下载文本     佚名周公2022-11-04 21:01:29 8360

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาษาถิ่นต่าง ๆ

ปกติเมื่อพูดถึงภาษาถิ่นต่าง ๆ มักจะหมายถึงภาษาถิ่นต่าง ๆ ของภาษาเดียวกัน สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดภาษาถิ่นต่าง ๆ หรือภาษาย่อยขึ้นมานั้น มีอยู่ ๓ ประการคือ

๑. ความจริงที่ว่าภาษาเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่งซึ่งย่อมจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

๒. การขาดการติดต่อกันระหว่างผู้ที่พูดภาษาเดียวกันมา

๓. การเปลี่ยนแปลงของภาษา โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการออกเสียงแต่ละเสียง เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ และอย่างมีระเบียบ

๑. ภาษาเป็นสิ่งมีชีวิตย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดำเนินไปอย่างช้า ๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป ในชั่วชีวิตของแต่ละคนจึงมักจะไม่ค่อยสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของภาษา

สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการออกเสียงแต่ละเสียง คือในระยะเริ่มแรกของการเรียนภาษาแรกของแต่ละคนเรียนด้วยวิธีการเลียนแบบ เป็นที่ทราบกันอยู่ว่าการเลียนแบบนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามจะทำให้เหมือนแบบจริง ๆ ทุกอย่างย่อมไม่ได้ ในเรื่องการเลียนแบบการออกเสียงพูดก็เช่นเดียวกัน เด็กที่เลียนแบบพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูหรือผู้ที่อยู่แวดล้อมตัวเด็ก ย่อมจะทำให้เหมือนทีเดียวไม่ได้จะต้องมีผิดเพี้ยนไปบ้างเป็นธรรมดา ปกติถ้าผิดเพี้ยนไปมากก็มักจะมีผู้สังเกตเห็นและช่วยแก้ให้เด็กออกเสียงเสียให้ถูกต้องหรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับเสียงที่ถูกต้องมากที่สุด แต่ถ้าหากเด็กออกเสียงผิดเพี้ยนไปเพียงเล็กน้อยก็มักจะไม่ได้รับการแก้ให้ถูกต้อง ผลก็คือว่า ทำให้การออกเสียงแผกเพี้ยนไปทีละน้อยสืบทอดต่อ ๆ กันไปหลาย ๆ ชั่วคนเข้าการแผกเพี้ยนก็มากขึ้นทุกที จนทำให้เกิดเป็นการกลายเสียงขึ้น คือ เสียงในคำหนึ่งครั้งหนึ่งเคยออกเสียงกันอย่างหนึ่งเช่น ที่ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงคำว่า โสง โนน โอก (ออกเสียงสระโอ) แต่อีกสมัยหนึ่ง เช่น ปัจจุบันคำเหล่านี้ออกเสียงเป็น สอง นอน ออก (เช่น ออกพรรษา) (เป็นเสียงสระออ) นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ภาษาคนละสมัยมีลักษณะแตกต่างกันเนื่องมาจากภาษาเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังกล่าว

๒. ภาษาที่พูดอยู่ในสมัยเดียวกันนั้น อาจจะแตกต่างกันได้ ทั้งนี้นอกจากสาเหตุข้อที่ ๑ แล้ว ยังมีสาเหตุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การติดต่อคบหาสมาคมกันระหว่างผู้พูดภาษานั้น ๆ ปกติถ้าหากผู้พูดภาษาเดียวกันได้มีโอกาสติดต่อกันอยู่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภาษาทุกคนก็รับรู้และถ้าจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงก็รับด้วยกัน ทำให้ภาษาที่ใช้กันนั้นมีลักษณะเหมือน ๆ กันอยู่ พูดอีกอย่างก็คือ การเปลี่ยนแปลงของภาษาก็เป็นไปทำนองเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากผู้ที่พูดภาษาเดียวกันด้วยความจำเป็นบางอย่างทำให้ต้องแยกย้ายกันอยู่ และโอกาสที่จะติดต่อคบหาสมาคมกันก็ไม่มี เมื่อภาษาที่คนกลุ่มหนึ่งใช้เปลี่ยนแปลงไป คนอีกกลุ่มก็ไม่มีทางรู้กัน ผลก็คือ ทำให้ภาษาของคนต่างกลุ่มเปลี่ยนแปลงกันไปคนละทาง ต่างกลุ่มก็ต่างเปลี่ยนของตน ความจำเป็นบางอย่างดังกล่าวนี้อาจจะได้แก่ ความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ คือย้ายถิ่นที่ทำมาหากิน หรือทางด้านภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศที่มีภูเขาแม่น้ำกั้นอยู่ ทำให้คนไม่สามารถติดต่อกันได้โดยสะดวกเหมือนเมื่ออยู่รวมกันในท้องถิ่นเดียวกัน ดินฟ้าอากาศก็อาจจะเป็นเหตุให้คนต้องแยกย้ายกันอยู่ คือถ้าถิ่นใดแห้งแล้วไม่มีฝนตกต้องตามฤดูกาลไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกทำไร่ไถนา คนก็อยู่ได้ไม่นานและมีคนอาศัยอยู่ไม่มาก ส่วนถิ่นใดที่อุดมสมบูรณ์ คนก็จะไปรวมกันอยู่หนาแน่น สรุปก็คือ ภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศมีส่วนทำให้คนมีโอกาสที่จะติดต่อคบหาสมาคมกันได้มากน้อยหรือไม่มีโอกาสเลยก็ได้ และการที่คนที่เคยพูดภาษาเดียวกันได้มีโอกาสติดต่อกันเสมอก็ทำให้ภูดภาษาที่เหมือน ๆ กัน แต่ถ้ามีโอกาสติดต่อกันน้อยเท่าไร ก็จะทำให้พูดภาษาต่างกันมากขึ้นเท่านั้น และต้องไม่ลืมว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ภาษาเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จะเห็นว่า สาเหตุ ๒ ข้อนี้เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด คนทั่วไปหรือแม้แต่ในหนังสือตำราบางเล่มก็มักจะคำนึงถึงเฉพาะสาเหตุข้อ ๒ ซึ่งอันที่จริงแล้วข้อ ๑ เป็นข้อที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นสาเหตุแรกและเป็นสาเหตุที่มีผลอยู่ตลอดเวลา แต่ที่คนมักไม่คำนึงถึงก็คงจะเป็นเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงของภาษาเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ คนจึงมักจะไม่สังเกต ดังกล่าวมาแล้ว

๓. เราอาจจะสงสัยกันว่า ในเมื่อภาษาเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทำไมคนที่พูดภาษาถิ่นคนละถิ่นจึงพูดจากันฟังรู้เรื่องได้ แต่ถ้าหากเรารู้ข้อเท็จจริงข้อหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงของเสียงหรือการกลายเสียงจากเสียงหนึ่งไปเป็นเสียงหนึ่งนั้นเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและมีระเบียบแล้ว ก็จะทำให้หายสงสัยได้ เช่น เมื่อเสียง ก ในคำหนึ่งเปลี่ยนไปเป็นอีกเสียงหนึ่งคือเสียง ข การเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกันนี้ก็จะเกิดขึ้นในคำอื่น ๆ อีกหลายคำ นี่เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ส่วนที่ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างมีระเบียบนั้นหมายถึงว่า การเปลี่ยนแปลงมีแบบแผนที่เป็นกฎเกณฑ์อยู่ในตัว เช่น จะเห็นว่า สระ เอะ กลายเป็น แอะ เราจะพบว่า สระ โอะ ก็จะกลายเป็น เอาะ คือมีแบบแผนว่าสระกึ่งสูง (หมายถึง เอะ และ โอะ) จะกลายเป็นสระกึ่งต่ำ (หมายถึง แอะ และ เอาะ) เป็นต้น

นอกจากนี้ เราอาจจะสังเกตได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของเสียงบางเสียงจะมีเงื่อนไขแน่นอน เช่น เรื่องสระดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นในคำตาย (ในภาษากรุงเทพฯ คือคำที่ลงท้ายด้วยเสียงในแม่ กก กด กบ และคำที่ลงท้ายด้วยสระเสียงสั้น)

ตัวอย่าง เก็บ เปลี่ยนเป็น แก็บ อบ เปลี่ยนเป็น อ็อบ

เจ็ด เปลี่ยนเป็น แจ็ด จด เปลี่ยนเป็น จ็อด

เด็ก เปลี่ยนเป็น แด็ก ปก เปลี่ยนเป็น ป็อก

สรุปได้ว่า สาเหตุสำคัญข้อที่ ๓ ที่ทำให้เกิดเป็นภาษาถิ่นต่าง ๆ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงของเสียงแต่ละเสียงไปตามกาลเวลานั้นเป็นไปอย่างมีระเบียบและสม่ำเสมอ

สาเหตุสำคัญทั้ง ๓ ข้อที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็ในเรื่องการออกเสียงแต่ละเสียง และในที่สุดก็ทำให้ภาษาถิ่นต่าง ๆ มีลักษณะแตกต่างกันไปในเรื่องการออกเสียงแต่ละเสียง ตลอดจนแตกต่างกันในเรื่องการจัดระบบของเสียงในภาษาด้วย

ยังมีสาเหตุอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการเพิ่มจำนวนคำที่ใช้ในภาษาคือ การได้ติดต่อกับคนที่พูดภาษาอื่นโดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ เช่น ทางปักษ์ใต้ได้ติดต่อสมาคมกับคนที่พูดภาษามลายู ก็ยืมคำมลายูมาใช้ ตัวอย่างเช่น มายา (ปุ๋ย), ช็องด็อง (ดื้อรั้น), ลาต้า (บ้าจี้), ซันชี (สัญญา) ส่วนภาคกลางโดยเฉพาะกรุงเทพฯ และโดยเฉพาะในวงการศึกษาได้อาศัยตำราภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ทำให้เรายืมคำอังกฤษมาใช้เป็นจำนวนมากมาย เมื่อยืมคำต่างประเทศคนละประเทศมาใช้กันคนละถิ่น ก็มีผลทำให้ต่างถิ่นกันใช้คำคนละคำ ในความหมายอย่างเดียวกัน นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความหมายของคำที่ใช้ในภาษา

 
反对 0举报 0 收藏 0 评论 0

(c)2022 haohaoxuexi.cc SYSTEM All Rights Reserved

冀ICP备17031443号-5